ฆุซลฺ

 ฆุซลฺ หมายถึงการอาบน้ำชำระล้างกายตามศาสนบัญญัติ ฆุซลฺ ในอิสลามมีทั้งบังคับ (วาญิบ) และสมัครใจ (ซุนนะฮฺ) และบางครั้งสำหรับศาสนบัญญัติบางประการนอกจากต้องมีวุฎูอฺแล้วยังต้องฆุซลฺด้วย อีกนัยหนึ่งนมาซและภาระกิจบางอย่างที่ต้องวุฎูอฺ วาญิบต้องฆุซลฺด้วย

 ขั้นตอนการฆุซลฺ

ข้อที่ ๑๐๘. การฆุซลฺจำเป็นต้องล้างศีรษะ ลำคอ และร่างกายให้ทั่วทั้งหมด ฆุซลฺบางครั้งวาญิบ (จำเป็นต้องปฏิบัติ) เช่น ฆุซลฺญะนาบะฮฺ หรือฆุซลฺหลังรอบเดือนได้หมดลง บางครั้งเป็นมุซตะฮับ เช่น ฆุซลฺญุมุอะฮฺ (ฆุซลฺวันศุกร์) อีกนัยหนึ่งฆุซลฺทุกประเภทนั้นเหมือนกันแตกต่างกันตรงเนียตเท่านั้น

 ข้อที่ ๑๐๙. สามารฆุซลฺได้ ๒ วิธีดังนี้ กล่าวคือฆุซลฺตัรตีบียฺ และฆุซลฺอิรติมาซียฺ

ฆุซลฺตัรตีบียฺยฺ หมายถึง การอาบน้ำที่ละขั้นตอนโดยเริ่มต้นล้างจากศีรษะและลำคอ หลังจากนั้นล้างซีกด้านขวามือตั้งแต่ลำคอจนจรดเท้า เืมื่อเสร็จแล้วให้ล้างซีกด้านซ้ายตามลำดับ

ฆุซลฺอิรติมาซียฺ หมายถึง การดำลงในน้ำเพียงครั้งเดียว ดังนั้น สำหรับฆุซลฺอิรมิมาซียฺต้องมีน้ำเพียงพอต่อการดำลงไปใต้น้ำ

เงื่อนไขของฆุซลฺที่ถูกต้อง

ข้อที่ ๑๑๐. เงื่อนไขที่ถูกต้องทั้งหมดสำหรับวุฎูอฺ เป็นเงื่อนไขที่ถูกต้องสำหรับฆุซลฺด้วย ยกเว้นความต่อเนื่องและไม่จำเป็นต้องล้างจากด้านบนสู่ด้านล่าง

 ข้อที่ ๑๑๑. ถ้าบุคคลหนึ่งมีหลายฆุซลฺเป็นวาญิบสำหรับตน สามารถเนียตฆุซลฺรวมกันและฆุซลฺเพียงครั้งเดียวได้

 ข้อที่ ๑๑๒.บุคคลที่ได้ฆุซลฺญะนาบะฮฺแล้ว ถ้าต้องการนมาซไม่จำเป็นต้องวุฎูอฺอีก ทว่าฆุซลฺวาญิบอื่น ๆ ก็เช่นกันแม้ว่าดีกว่่าให้วุฎูอฺก่อนก็ตาม ยกเว้นฆุซลฺอิซติฮาเฎาะฮฺปานกลางเท่านั้นที่ต้องวุฎูอฺก่อน

 ข้อที่ ๑๑๓. การฆุซลฺอิรติมาซียฺร่างกายทุกส่วนต้องสะอาด แต่ฆุซลฺตัรตีบียฺยฺไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ ทุกส่วนของร่างกายก่อนที่จะฆุซลฺให้เอาน้ำล้างบริเวณนั้นก่อนถือว่าเพียงพอ

ข้อที่ ๑๑๔. การฆุซลฺญะบีเราะฮฺ (มีบาดแผล) เหมือนกับวุฎูอฺญะบีเราะฮฺ

ข้อที่ ๑๑๕. บุคคลที่ถือศีลอดวาญิบอยู่ ไม่สามารถฆุซลฺอิรติมาซียฺได้ เนื่องจากบุคคลที่ถือศีลอดไม่สามารถดำศีรษะทั้งหมดลงใต้น้ำได้ แต่ถ้าลืมไปว่ากำลังถือศีลอดอยู่และได้ฆุซลฺอิรติมาซียฺ ถูกต้อง

ข้อที่ ๑๑๖. ขณะฆุซลฺไม่จำเป็นต้องเอามือลูบให้ทั่วร่างกาย เพียงแค่เนียตและเอาน้ำราดให้ทั่วร่างกายเท่านั้น ถือว่าเพียงพอ

ฆุซลฺวาญิบต่าง ๆ

ข้อที่ ๑๑๗. ฆุซลฺวาญิบมี ๗ ประเภทได้แก่ ญะนาบะฮฺ มัยยิต มัซมัยยิต ฮัยฎฺ อิซติฮาเฎาะฮฺ นิฟาซ และฆุซลฺนะซัร

ฆุซลฺญะนาบะฮฺ

ข้อที่ ๑๑๘. ถ้าหากอสุจิได้เคลื่อนออกจากมนุษย์ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น หรือจากการร่วมเพศถือว่ามี ญุนุบ ดังนั้นถ้าต้องการนมาซ หรืออิบาดะฮฺอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องวุฎูอฺ วาญิบต้องฆุซลฺญะนาบะฮฺ

ข้อที่ ๑๑๙. ถ้าบุคคลหนึ่งอสุจิได้เคลื่อนออกจากที่ของมันแต่ไม่ได้หลั่งออกมาข้างนอก ไม่ถือว่ามีญุนุบ

ข้อที่ ๑๒๐. ถ้าบุคคลหนึ่งรู้ว่าอสุจิได้หลั่งออกมาจากเขา หรือรู้ว่าสิ่งที่ออกมาจากเขาเป็นอสุจิ ถือว่ามีญุนุบ วาญิบต้องฆุซลฺญะนาบะฮฺ

ข้อที่ ๑๒๑. ถ้ามีน้ำไหลออกมาแต่ไม่รู้ว่าเป็นปัสสาวะ หรืออสุจิ หรือเป็นน้ำอย่างอื่น ดังนั้น ถ้าน้ำพุ่งออกมาเนื่องจากมีความต้องการ และหลังจากน้ำออกมาแล้วร่างกายอ่อนเพลียเล็กน้อย ถื่อว่าน้ำนั้นเป็นอสุจิ แต่ถ้าไม่มีลักษณะตามที่กล่าวมาไม่ถือว่าเป็อสุจิ

ข้อที่ ๑๒๒. มุซตะฮับหลังจากอสุจิได้หลั่งออกมาให้ปัสสาวะ ถ้าไม่ปัสสาวะและหลังจากฆุซลฺได้มีน้ำไหลออกมาโดยไม่รู้ว่าเป็นอสุจิหรือไม่ ถือว่าน้ำนั้นอยู่ในกฏของอสุจิ

ภาระกิจที่ฮะรอมสำหรับคนมีญุนุบ

ข้อที่ ๑๒๓. นับตั้งแต่อสุจิได้หลั่งออกมาจนกระทั่งฆุซลฺ ถ้าไม่สามารฆุซลฺได้ให้ตะยัมมุม แต่ถ้ายังไม่ได้ตะยัมมุม ภาระกิจต่าง ๆ เหล่านี้ ฮะรอม

- สัมผัสอักษรอัล-กุรอาน พระนามอัลลอฮฺ และอิฮฺติยาฏวาญิบนามของท่านศาสดาและบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์

- เข้าไปในมัสญิดอัล-ฮะรอมและมัสญิดนบี แม้ว่าจะเข้าไปทางประตูด้านหนึ่งและไปออกอีกด้านหนึ่งก็ตาม

- การเข้าไปหยุดพักในมัสญิด แต่ถ้าเดินผ่านเข้าทางประตูหนึ่งและไปออกอีกประตูหนึ่ง หรือเดินเข้าไปหยิบสิ่งของในมัสญิดไม่เป็นไร และอิฮฺติยาฏวาญิบ ในฮะรัมของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่ให้หยุด

- การนำสิ่งของไปวางในมัสญิด

- อ่านอัล-กุรอานที่มีซูเราะฮฺซัจญฺดะฮฺวาญิบได้แก่ ซูเราะฮฺซัจญฺดะฮฺ ฟุุซซิลัต นัจมุ และซูเราะฮฺอะลัก แม้เพียงคำเดียวก็ตาม

ข้อที่ ๑๒๔. ถ้าบุคคลได้กำหนดให้บริเวณหนึ่งของบ้านตนเป็นสถานที่นมาซ หรือตามสำนักงาน และสถานที่อื่น ๆ ถือว่าไม่ได้อยู่ในกฏของมัสญิด

ข้อที่ ๑๒๕. การหยุดในฮะรัมของลูกหลานอิมาม (อ.) แม้ว่าจะมีญุนุบไม่เป็นไร แต่ถ้าหยุดในมัสญิดซึ่งโดยปกติจะสร้างไว้ข้าง ๆ ฮะรัม ฮะรอม

ฆุซลฺมัยยิต

ข้อที่ ๑๒๖. เมื่อมุสลิมคนหนึ่งตาย วาญิบต้องฆุซลฺ กะฟั่น นมาซมัยยิต และฝัง

ฆุซลฺมัซมัยยิต

ข้อที่ ๑๒๗. ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายสัมผัสร่างของคนตายที่เย็นแล้ว และยังไม่ได้ฆุซลฺมัยยิต วาญิบต้องฆุซลฺมัซมัยยิต

ฆุซลฺวาญิบเฉพาะสตรี

ข้อที่ ๑๒๘. ฆุซลฺ ๓ ประเภทเป็นวาญิบสำหรับสตรีเท่านั้นได้แก่ ฆุซลฺฮัยฎฺ (หลังหมดระดู) อิซติฮาเฎาะฮฺ (ระดูเกินกำหนด) และนิฟาซ (โลหิตหลังการคลอดบุตร) สาเหตุที่ฆุซลฺเป็นวาญิบ เนื่องจากได้มีเลือดไหลออกจากทางช่องคลอด ซึ่งเลือดแต่ละประเภทมีกฏและรายละเอียดเป็นของตนเอง

ฆุซลฺฮัยฏฺ (ระดู)

ข้อที่ ๑๒๙. เมื่อระดูได้หมดลงสำหรับนมาซและอิบาดะฮฺอื่น ๆ ที่ต้องมีความสะอาด วาญิบต้องฆุซลฺ

ข้อที่ ๑๓๐. ระดูจะไม่มาก่อนถึงวัยบาลิฆ (บรรลุศาสนบัญญัติ) ดังนั้น ถ้าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมีเลือดไหลออกมาก่อนถึงวัยบาลิฆ ไม่ถือว่าเลือดนั้นเป็นระดู

ข้อที่ ๑๓๑. ระดูจะมาไม่น้อยกว่า ๓ วัน ฉะนั้น ถ้ามีเลือดไหลออกมาแต่หยุดก่อนครบ ๓ วัน ไม่ถือว่าเป็นฮัยฎฺ

ข้อที่ ่๑๓๒. ระดูจะมาไม่เกิน ๑๐ วัน ฉะนั้น ถ้ามีเลือดไหลเกิน ๑๐  วัน ไม่ถือว่าเลือดทั้งหมดเป็นระดู

ข้อที่ ๑๓๓. ระดูโดยปกติจะเข็มข้น อุ่น สีแดงจัด ไหลพุ่ง และเวลาไหลออกมาจะรู้สึกว่ามีอาการปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อย

ข้อที่ ๑๓๔. ขณะที่มีระดูภาระกิจดังต่อไปนี้เป็นฮะรอมได้แก่

- นมาซ

- เฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺ

- ภาระกิจต่าง ๆ ที่ฮะรอมขณะมีญุนุบ เช่น หยุดในมัสญิดเป็นต้น

ข้อที่ ๑๓๕. ขณะมีระดูไม่วาญิบต้องนมาซและศีลอด และนมาซไม่วาญิบต้องชดใช้ภายหลัง ส่วนศีลอดวาญิบต้องชดชัย

ข้อที่ ๑๓๖. ฆุซลฺฮัยฎฺและญะนาบะฮฺไม่แตกต่างกัน ยกเว้นเนียต

ข้อที่ ๑๓๗. สามารถนมาซกับฆุซลฺฮัยฎฺได้ แม้ว่าดีกว่าให้วุฎูอฺด้วยก็ตาม

ฆุซลฺอิซติฮาเฎาะฮฺ

ข้อที่ ๑๓๘. อิซติฮาเฎาะฮฺ เป็นเลือดอีกประเภทหนึ่งที่บางครั้งไหลออกจากช่องคลอดของสตรี ซึ่งเรียกว่าระดูเกินกำหนด

ข้อที่ ๑๓๙. อิซติฮาเฎาะฮฺส่วนมากจะมีสีค่อนข้างเหลือง ไม่ร้อน ไม่เข็มข้น ไม่ไหลพุ่ง และไม่มีอาการปวดแสบปวดร้อน แต่บางครั้งอาจเป็นไปได้ที่ว่าเลือดจะมีสีเข็มข้น ร้อน และไหลพุ่งออกมา

ข้อที่ ๑๔๐. อิซติฮาเฎาะฮฺแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทดังนี้

- ถ้าน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องฆุซลฺแต่เป็นสาเหตุทำให้วุฎูอฺบาฏิล เรียกว่าชนิดน้อย

- แต่ถ้าไม่น้อยจนเกินไป ฆุซลฺเป็นวาญิบ เรียกว่าชนิดปานกลาง

- อีกประเภทเรียกว่าชนิดมาก และศึกษาข้อมูลเติมได้จากริซาละฮฺของบรรดามัรญิอฺทั้งหลาย

ฆุซลฺนิฟาซ (โลหิตหลังคลอดบุตร)

ข้อที่ ๑๔๑. ฆุซลฺนิฟาซเกี่ยวข้องกับการคลอดบุตรโดยเฉพาะ ซึ่งเลือดนี้จะไม่มาในเวลาอื่น ฉะนั้น สตรีหลังจากคลอดบุตรแล้วต้องฆุซลฺนิฟาซด้วย

ตะยัมมุม

ข้อที่ ๑๔๒. ประเด็นต่อไปนี้ต้องตะยัมยุมแืทนวุฎูอฺและฆุซลฺ

- ไม่มีน้ำ หรือไม่สามารถหาน้ำได้

- น้ำเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ถ้าใช้น้ำอาจทำให้ไม่สบาย หรืออาจไม่สบายหนักขึ้น หรือทำให้หายป่วยช้าลง

- ถ้าใช้น้ำวุฎูอฺหรือฆุซลฺแล้วเป็นสาเหตุทำให้ตนเอง หรือครอบครัว หรือมิตรสหาย หรือคนใกล้ชิด หรือเพื่อนร่วมทางซึ่งวาญิบสำหรับตนต้องปกป้องชีวิตของพวกเขา ต้องหิวน้ำอย่่างหนักจนไม่สามารถทนได้ หรือเป็นสาเหตุให้ไม่สบาย ต้องไม่ใช้น้ำนั้น (หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ตาม)

- ร่างกายและเสื้อผ้านะญิซ ซึ่งน้ำเพียงพอแค่ล้างนะญิซเท่านั้น และไม่มีเสื้อผ้าตัวอื่นอีกนอกจากชุดดังกล่าว

- เวลานมาซเหลือน้อยมาก ถ้าต้องวุฎูอฺหรือฆุซลฺจะเป็นสาเหตุทำให้นมาซบางส่วนหรือทั้งหมดต้องนมาซหลังเวลานมาซ

วิธีตะยัมมุม

ข้อที่ ๑๔๓. การตะยัมมุมมี ๕ ขั้นตอนเป็นวาญิบ ดังนี้

- เนียต

- ตบฝ่ามือทั้งสองลงบนสิ่งที่อนุญาตให้ตะยัมมุมได้

- ให้เอาฝ่ามื่อทั้งสองลูบหน้าตั้งแต่ไรผม หน้าผากทั้งหมด และจบลงที่ปลายจมูก

- ให้เอามือซ้ายลูบหลังมือขวาตั้งแต่ข้อมือจนถึงปลายนิ้ว

- ให้เอามื่อขวาลูบหลังมือซ้ายตั้งแต่ข้อมือจนถึงปลายนิ้ว

ข้อที่ ๑๔๔.เพื่อความมั่นใจว่าลูบทั่วหลังมือทั้งหมด ดั้งนั้น ให้ลูบเหนือข้อมือขึ้นไปเล็กน้อย แต่การลูบระหว่างนิ้วถือว่าไม่จำเป็น

ข้อที่ ๑๔๕. ขณะตะยัมมุมต้องถอดแหวนออกให้หมด และถ้ามีอุปสรรคอย่างอื่นต้องขจัดออกก่อน

ข้อที่ ๑๔๖. ขั้นตอนทั้งหมดของตะยัมมุมต้องเนียตเพื่อปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ และต้องรู้ว่าตะยัมมุมแทนวุฎูอฺหรือฆุซลฺ

สิงที่ตะยัมมุมแล้วถูกต้อง

10.30

ข้อที่ ๑๔๗. ตะยัมมุมบนฝุ่นดิน กรวด เศษอิฐที่เป็นผงถ้าสะอาดถือว่า ถูกต้อง

เงื่่อนไขของตะยัมมุม

ข้อที่ ๑๔๘. ตะยัมมุมแทนที่วุฏูอฺกับตะยัมมุมแทนที่ฆุซลฺไม่แตกต่างกัน

ฺข้อที่ ๑๔๙. ถ้าตะยัมมุมแทนที่วุฎูอฺ และได้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้วุฎูอฺบาฏิลเกิดขึ้น ถือว่าตะยัมมุมบาฏิล

ข้อที่ ๑๕๐. ถ้าตะยัมมุมแทนฆุซลฺ และได้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ฆุซลฺบาฏิลเกิดขึ้น ถือว่าตะยัมมุมบาฏิล เช่น ถ้าตะยัมมุมแทนฆุซลฺญะนาบะฮฺ หลังจากนั้นมีญุนุบอีกครั้งหนึ่ง ตะยัมมุมบาฏิล

ข้อที่ ๑๕๑. ตะยัมมุมจะถูกต้องก็ต่อเมื่อ บุคคลนั้นไม่สามารถวุฎูอฺหรือฆุซลฺได้ ด้วยเหตุนี้ถ้าตะยัมมุมโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามีอุปสรรคต่อมาอุปสรรคได้หมดไป เช่น ไม่มีน้ำเพื่อวุฎูอฺต่อมาหาน้ำได้ ถ้าตะยัมมุม ถือว่าบาฏิล

ข้อที่ ๑๕๒. ถ้าตะยัมมุมแทนฆุซลฺญะนาบะฮฺ หากจะนมาซไม่จำเป็นต้องวุฎูอฺอีก แต่ถ้าตะยัมมุมแทนฆุซลฺอื่นที่นอกเหนือไปจากฆุซลฺญะนาบะฮฺ ไม่สามารถนมาซกับตะยัมมุมนั้นได้ ซึ่งต้องวุฎูอฺก่อน แต่ถ้าไม่สามารถวุฎูอฺได้ให้ตะยัมมุมอีกครั้งแทนวุฎูอฺ

นมาซ

ความสำคัญของนมาซ

นมาซเป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญที่สุดของศาสนา ถ้านมาซถูกตอบรับ ณ พระผู้เป็นเจ้าการกระทำอื่น ๆ ก็จะถูกตอบรับด้วย แต่ถ้านมาซไม่ถูกตอบรับอิบาดะฮฺอื่นจะไม่ถูกตอบรับทั้งสิ้น

แน่นอนถ้าหากคนเราชำระล้างร่างกายวันละ ๕ ครั้ง ก็จะไม่มีความสกปรกหลงเหลืออยู่อีก ซึ่งนมาซประจำวัน ๕ เวลานั้นเปรียบเสมือนกับน้ำที่มาชำระล้างความสกปรกและบาปให้หมดไปจากตัวเรา

เป็นการดีถ้านมาซให้ตรงเวลา ซึ่งบุคคลก็ตามที่ไม่ให้ความสำคัญกับนมาซเท่ากับไม่ได้นมาซ ท่่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า บุคคลที่ำไม่ใหความสำคัญกับนมาซ และคิดว่านมาซเป็นเรื่องเล็กน้อยเขามีความเหมาะสมกับการลงโทษในปรโลกอย่างยิ่ง

เป็นการดีสำหรับผู้นมาซทุกคนที่ต้องไม่กระทำสิ่งอันเป็นสาเหตุทำให้ผลบุญของนมาซลดน้อยลงไป เช่น นมาซแบบคนง่วงนอนครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือขณะนมาซแหงนมองท้องฟ้า ทว่าให้กระทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ผลบุญของนมาซเพิมพูน เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ประพรมน้ำหอม แปรงฟันก่อนนมาซ หวีผมและนวดเคราให้เรียบร้อย

ประเภทของนมาซ

นมาซแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทกล่าวคือ นมาซวาญิบหรือมุซตะฮับ นมาซวาญิบแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทเช่นกันคือ นมาซวาญิบประจำวันซึ่งต้องปฏิบัติทุกวันตามเวลาที่กำหนด อีกประเภทหนึ่งนมาซวาญิบเนื่องจากมีสาเหตุอื่นประกอบซึ่งไม่ได้ปฏิบัติทุกวัน

นมาซวาญิบประจำวัน

ข้อที่ ๑๕๑. นมาซวาญิบประจำวัน ๕ เวลามีทั้งสิ้น ๑๗ เราะกะอัต ประกอบด้วย

นมาซซุบฮฺ ๒ เราะกะอัต

นมาซซุฮฺริ ๔ เราะกะอัต

นมาซอัซริ ๔ เราะกะอัต

นมาซมัฆริบ ๓ เราะกะอัต

นมาซอิชาอฺ ๔ เราะกะอัต

เวลาของนมาซนมาซวาญิบประจำวัน

ข้อที่ ๑๕๒. เวลานมาซซุบฮฺ เริ่มตั้งแต่อะซานซุบฮฺจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งในช่วงระหว่างเวลาดังกล่าวต้องนมาซ และเป็นการดีถ้านมาซในช่วงเวลาที่ใกล้กับอะซานมากที่สุด

เวลานมาซซุฮรฺและอัซรฺ นับตั้งแต่ซุฮฺริชัรอียฺไปจนถึงมัฆริบ และเวลาเฉพาะสำหรับนมาซซุฮฺริคือ ช่วงเวลาแค่นมาซสี่เราะกะอัตตั้งแต่เริ่มต้นเวลานมาซ ส่วนเวลาเฉพาะสำหรับนมาซอัซริคือ ช่วงเวลาที่เหลืือพอแค่นมาซสี่เราะกะอัตก่อนเข้าเวลานมาซมัฆริบ

เวลานมาซมัฆริบและอิชาอฺ นับตั้งแต่เข้าเวลามัฆริบไปจนถึงครึ่งคืนชัรอียฺ เวลาเฉพาะสำหรับนมาซมัฆริบคือ ช่่วงเวลาแค่นมาซสามเราะกะอัตหลังจากเข้าเวลามัฆริบ และเวลาเฉพาะสำหรับนมาซอัซริคือ ช่วงเวลาที่เหลืือพอแค่นมาซสี่เราะกะอัตก่อนถึงครึ่งคืนชัรอียฺ

เริ่มเวลานมาซซุบฮฺ

ข้อที่ ๑๕๓. ใกล้เวลาอะซานซุบฮฺจะมีแสงสีขาวปรากฏทางทิศตะวันออกเคลื่อนขึ้นด้านบน เรียกว่าฟัจรุลเอาวัล (แสงเงินแรก) และเมื่อแสงสีขาวแผ่กระจายออกเรียกว่า แสงเงินที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นนมาซซุบฮฺ

เริ่มเวลานมาซซุฮฺริ

ข้อที่ ๑๕๔. ถ้านำไม้หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งปักลงบนพื้นดินตั้งตรง ๙๐ องศา เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มขึ้นเงาไม้จะทอดไปทางทิศตะวันตก และดวงอาทิตย์ขึ้นสูงเท่าใดเงาไม้ก็จะสั้นลงเท่านั้น เมื่อเงาไม้เหลือน้อยมากที่สุดซึ่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปอยู่ทิศตรงข้าม ถือว่าเข้าเวลาซุฮฺริพอดี

เริ่มเวลานมาซมัฆริบ

ข้อที่ ๑๕๕. เวลามัฆริบเริ่มตั้งแต่แสงสีแดงทางทิศตะวันออก ซึ่งปรากฏขึ้นมาหลังจากดวงอาทิตย์ตกได้จางหายไป

ครึ่งคืนชัรอียฺ

ข้อที่ ๑๕๖. การนับเวลาครึ่งคืนชัรอียฺ อิฮฺติยาฏวาญิบให้เริ่มนับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปจนถึงอะซานซุบฮฺและแบ่งครึ่งเวลาดังกล่าวออกเป็นสองส่วน เช่น สมมุติว่า พระอาทิตย์ตกดินเวลา ๑๘.๐๐ น. และอะซานซุบฮฺเวลา ๐๕.๐๐ น. ช่วงเวลาระหว่างทั้งสองคือ ๑๑ ชั่วโมง (๑๑÷  ๒ = ๕.๓๐) ฉะนั้นเวลาครึ่งคืนชัรอียฺคือ ๒๓.๓๐ น.

เงื่อนไขเวลานมาซ

ข้อที่ ๑๕๗. นมาซที่ไม่ใช่นมาซวาญิบประจำวันไม่มีเวลากำหนดที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเวลา เหตุการณ์ และสาเหตุที่ทำให้นมาซเป็นวาญิบ เช่น นมาซอายาตขึ้นอยู่กับการเกิดแผ่นดินไหว จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา เป็นต้น ส่วนนมาซมัยยิตจะเป็นวาญิบต่อเมื่อมีมุสลิมเสียชีวิต

ข้อที่ ๑๕๘. ถ้านมาซก่อนเข้าเวลานมาซ ไม่ว่าจะลืมหรือตั้งใจก็ตาม นมาซบาฏิล

หมายเหตุ นมาซตรงเวลาเรียกว่า นมาซอะดาอฺ แต่ถ้านมาซนอกเวลาหรือหลังจากเวลานมาซผ่านไปแล้วเรียกว่า นมาซเกาะฎอ

ข้อที่ ๑๕๙. จำเป็นต้องนมาซให้ตรงเวลาตามที่กำหนดไว้ ถ้าตั้งใจไม่นมาซในเวลาถือว่า ได้ทำบาป

ข้อที่ ๑๖๐. เป็นมุซตะฮับให้นมาซตรงเวลา ยิ่งใกล้เวลาอะซานหรือตรงเวลามากเท่าใดยิ่งเป็นการดี ยกเว้นบางกรณีถ้าปล่อยเวลานมาซให้ล่าออกไปเป็นการดีกว่า เช่น รอเวลาเพื่อนมาซญะมาอะฮฺ

ข้อที่ ๑๖๑. หากเวลานมาซเหลือน้อย ถ้าต้องการทำสิ่งที่เป็นมุซตะฮับ จะทำให้นมาซบางส่วนเลยเวลา ดังนั้น ต้องไม่ทำสิ่งที่เป็นมุซตะฮับ เช่น ถ้ากล่าวกุนูตจะทำให้เลยเวลานมาซ ฉะนั้น ต้องไม่กุนูต

ข้อที่ ๑๖๒. ต้องนมาซอัซริหลังจากนมาซซุฮฺรฺ และนมาซอิชาอฺหลังจากนมาซมัฆริบ ถ้าตั้งใจนมาซสลับกัน นมาซบาฏิล

กิบละฮฺ

ข้อที ๑๖๓. สถานกะอฺบะฮฺตั้งอยู่ที่เมื่องมักกะฮฺในบริเวณมัสญิด อัลฮะรอม ถูกกำหนดให้เป็นกิบละฮฺสำหรับมุสลิมทั้งหลาย ฉะนั้น เวลานมาซทุกคนต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ

ข้อที่ ๑๖๔.  สำหรับบุคคลที่อยู่ห่างไกลจากมักกะฮฺ เวลานมาซถ้ากล่าวได้ว่าหันหน้าตรงกับกิบละฮฺถือว่าเพียงพอ