ซัจดะฮฺ 

ข้อที่ ๒๒๐. นมาซไม่ว่าจะเป็นนมาซวาญิบหรือมุซตะฮับหลังจากรุกูอฺแล้ว วาญิบต้องซัจดะฮฺ ๒ ครั้ง

ข้อที่ ๒๒๑. ซัจดะฮฺหมายถึงการจรดหน้าผากลงบนบริเวณที่จะซัจญฺดะฮฺ ฝ่ามือทั้งสองต้องแบแนบติดกับพื้น และปลายนิ้วหัวแม่เท้าทั้งสองต้องจรดพื้น ขณะที่ซัจญฺดะฮฺนั้นวาญิบต้องกล่าวซิกรฺซัจญฺดะฮฺ

ข้อที่ ๒๒๒. ขณะซัจญฺดะฮฺให้กล่าวซิกรฺว่า ซุบฮานัลลอฮิ ๓ ครั้ง หรือกล่าวเพียงครั้งเดียวว่า ซุบฮานะร็อบบิยัลอะอฺลาวะบิฮัมดีฮี

ข้อที่ ๒๒๓. ขณะที่กล่าวซิกรฺซัจญฺดะฮฺร่างกายต้องสงบนิ่ง

ข้อที่ ๒๒๔. ถ้าก่อนที่หน้าผากจะจรดพื้นและร่างกายยังไม่นิ่ง ตั้งใจกล่าวซิกรฺออกมา นมาซลบาฏิล แต่ถ้าลืมต้องทำให้ร่างกายนิ่งและกล่าวซิกรฺใหม่อีกครั้ง

ข้อที่ ๒๒๕. ผู้นมาซหลังจากซัจญฺดะฮฺครั้งแรกแล้วเมื่อเงยขึ้นมาต้องนั่งให้ร่างกายนิ่ง หลังจากนั้นจึงลงซัจญฺดะฮฺอีกครั้ง

ข้อที่ ๒๒๖. ถ้าผู้นมาซตั้งใจเงยศีรษะขึ้นก่อนกล่าวซิกรฺซัจญฺดะฮฺจบ นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๒๗. ขณะที่กล่าวซิกรฺซัจญฺดะฮฺอยู่นั้น ตั้งใจยกอวัยวะหนึ่งใน ๗ ขึ้นจากพื้น นมาซบาฏิล แต่ถ้าไม่ได้อยู่ระหว่างการกล่าวซิกรฺได้ยกอวัยวะขึ้นมาซึ่งไม่ใช่หน้าผาก และวางลงไปอีกครั้ง ไม่เป็นไร

ข้อที่ ๒๒๘. ถ้านิ้วเท้าที่ไม่ใช่นิ้วหัวแม่เท้าจรดพื้นพร้อมกับนิ้วหัวแม่เท้า ไม่เป้นไร

ข้อที่ ๒๒๙.ผู้นมาซต้องจรดหน้าผากลงบนดิน หรือสิ่งที่งอกเงยจากดินที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องนุ่งห่ม เช่น ไม้ หรือใบไม้เป็นต้น

ข้อที่ ๒๓๐. ซัจญฺดะฮฺลงบนแร่ธาตุ เช่น ทองคำ เงิน หินอะกีก หรือหินที่ใช้ทำหัวแหวนทั่วไป ไม่ถูกต้อง

ข้อที่ ๒๓๑. ซัจญฺลงบนสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดิน ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ เช่น อาหารของวัวถูกต้อง

ข้อที่ ๒๓๒. ซัจญฺลงบนกระดาษแม้ว่าจะทำจากฝ้ายหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ถูกต้อง

ข้อที่ ๒๓๓. สำหรับซัจญฺดะฮฺ ดีกว่าให้ซัจญฺดะฮฺลงบนดินกัรบะลาอฺ ดินทั่ว ๆ ไป หิน และพืชตามลำดับ

หน้าที่ของผู้ที่ไม่สามารถซัจญฺดะฮฺได้ตามปกติ

ข้อที่ ๒๓๔. บุคคลที่ไม่สามารถซัจญฺลงบนพื้นได้อย่างปกติ ให้ก้มลงไปเท่าที่สามารถก้มได้ และให้วางดินสูงกว่าพื้นหลังจากนั้นจึงซัจญฺดะฮฺ ส่วนฝ่ามือ หัวเข่า และนิ้วหัวแม่เท้าให้วางลงบนพื้นตามปกติ หรือวางบนโต๊ะหรือเก้าอื้

ข้อที่ ๒๓๕. ถ้าไม่สามารถก้มได้ให้นั่งซัจญฺดะฮฺ โดยก้มศีรษะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการซัจญฺดะฮฺ และอิฮฺติยาฏวาญิบให้วางดินไว้สูง ๆ เพื่อจรดหน้าผากลงบนนั้น

ซัจญฺดะฮฺวาญิบกุรอาน

ข้อที่ ๒๓๖. อัล-กุรอาน ๔ ซูเราะฮฺมีโองการซัจญฺดะฮฺวาญิบ ดังนั้น ถ้าอ่านโองการเหล่านี้ หรือได้ยินคนอื่นอ่านเมื่อจบแล้วต้องลงซัจญฺดะฮฺทันที

ข้อที่ ๒๓๗. อัล-กุรอานที่มีโองการซัจญฺดะฮฺวาญิบ

-          ซูเราะฮฺซัจญฺดะฮฺ โองการที่ ๑๕

-          ซูเราะฮฺฟุซซิลัต โองการที่ ๓๗

-          ซูเราะฮฺนัจมุ โองการที่ ๖๒

-          ซูเราะฮฺอะลัก โองการที่ ๑๙

ข้อที่ ๒๓๘. ถ้าหากลืมซัจญฺดะฮฺวาญิบ นึกขึ้นได้เมื่อใดให้ซัจญฺดะฮฺเมื่อนั้น

ข้อที่ ๒๓๙. ถ้าหากได้ยินโองการซัจญฺดะฮฺวาญิบจากวิทยุ หรือเทป หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน อิฮฺติยาฏวาญิบต้องซัจญฺดะฮฺ

ข้อที่ ๒๔๐. ถ้าได้ยินโองการซัจญฺดะฮฺจากเครื่องขยายเสียง (จากการอ่านสดมิใช่นำเทปมาเปิด) วาญิบต้องซัจญฺดะฮฺ

ข้อที่ ๒๔๑. ไม่เป็นวาญิบต้องการซิกรฺในซัจญฺดะฮฺวาญิบ ทว่าเป็นมุซตะฮับ

ตะชะฮุด

ข้อที่ ๒๔๒. นมาซเราะกะอัตที่ ๒ และเราะกะอัตสุดท้ายหลังจากซัจญฺดะฮฺครั้งที่สองให้นั่ง เมื่อร่างกายนิ่งแล้วให้กล่าวตะชะฮูดังนี้ว่า

اَشْهَدُ اَنْ لاَ اِلَهَ اِلاَّ اللّه وَحْدَهُ لاَ شَرِيْكَ لَهُ، وَ اَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدَهُ وَ رَسُوْلَهُ ، اَللّّهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّد

สลามนมาซ  

ข้อที่ ๒๔๓. นมาซเราะกะอัตสุดท้ายหลังจากกล่าวตะชะฮุดแล้ว ขณะที่ร่างกายยังนิ่งอยู่ให้กล่าวสลาม เมื่อกล่าวสลามจนเป็นอันว่านมาซเสร็จสิ้น อันดับแรกมุซตะฮับในกล่าวว่า

السَّلاَمُ عَلَيْكَ اَيُّهَا النَّبِيُّ وَ رَحْمَةُ اللّهِ وَ بَرَكَاتُهُ

วาญิบให้กล่าวว่า

اَلسَّلاُمُ عَلَيْكُمْ وَ رَحْمَةُ اللهِ وَ بَرَكَاتُه

หรือกล่าวว่า

السَّلاَم عَلَيْنَا وَ عَلَى عِبَادِ الله الصِّالِحِيْن

اَلسَّلاُمُ عَلَيْكُمْ وَ رَحْمَةُ اللهِ وَ بَرَكَاتُه

ทำตามขั้นตอน

ข้อที่ ๒๔๔. นมาซต้องทำอย่างต่อเนื่องดังนี้คือ เนียตนมาซ, ตักบีเราะตุลอิฮฺรอม, กะรออัต, รุกูอฺ,ซุญูด เราะกะอัตที่สองก่อนที่จะซุญูด ให้กล่าวตะชะฮุด และเราะกะอัตสุดท้ายหลังจากตะชะฮุดให้กล่าวสลาม

ความต่อเนื่อง

ข้อที่ ๒๔๕. ความต่อเนื่องหมายถึง ทำแต่ละขั้นตอนให้ติดต่อกันโดยไม่ทิ้งช่วงให้ห่างกัน

ข้อที่ ๒๔๖. ถ้าทิ้งช่วงแต่ละขั้นตอนให้ห่างกัน โดยไม่สามารถกล่าวได้ว่ากำลังนมาซ นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๔๗. การรุกูอฺ หรือซุญูดนาน หรืออ่านซูเราะฮฺยาว ๆ ไม่ทำให้ความต่อเนื่องของนมาซสูญเสียไป

กุนูต

ข้อที่ ๒๔๘. มุซตะฮับเราะกะอัตที่ ๒ หลังจากกล่าวซูเราะฮฺจบแล้ว และก่อนที่จะรุกูอฺให้กุนูต หมายถึงยกมือทั้งสองขึ้นเสมอใบหน้าและดุอาอฺตามปรารถนา

ข้อที่ ๒๔๙. การกล่าวกุนูตสามารถกล่าวซิกรฺใดก็ได้ หรือแม้แต่กล่าวเพียงครั้งเดียวว่า ซุบฮานัลลอฮฺ ถือว่าเพียงพอ หรือดุอาอฺว่า

رَبَّنَا آتِنَا فِى الدُّنْيَا حَسَنَةً وَ فِى الآخِرَةِ حَسَةً وَ قِنَا عَذَابَ النَّار

ดุอาอฺหลังนมาซ

ตะอฺกีบ หมายถึง การอ่านอัล-กุรอาน และดุอาอฺหลังจากกล่าวสลามเสร็จแล้ว

ข้อที่ ๒๕๐. เป็นการดีขณะดุอาอฺท้ายนมาซให้หันหน้าไปทางกิบละฮฺ

ข้อที่ ๒๕๑. ไม่จำเป็นต้องดุอาอฺเป็นภาษาอาหรับ แต่ดีกว่าให้ดุอาอฺดังที่เขียนไว้ในหนังสือดุอาอฺต่าง ๆ

ข้อที่ ๒๕๒. ภารกิจที่กล่าวเน้นให้ทำหลังนมาซคือ การกล่าวตัซบีฮฺท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) โดยกล่าว อัลลอฮุอักบัร ๓๔ ครั้ง อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ๓๓ ครั้ง และซุบฮานัลลอฮฺ ๓๓ ครั้ง

สิ่งที่ทำให้นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๕๓. สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้นมาซบาฏิลมี ๑๒ ชนิด เรียกว่า มุฏฏิลลาต ประกอบด้วย

-          ระหว่างนมาซเงื่อนไขประการหนึ่งได้สูญเสียไป เช่น ระหว่างนมาซเสื้อ หรือร่างกายนะญิซ

-          ระหว่างนมาซตั้งใจ หรือบังเอิญ หรือจำเป็นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้วุฎูอฺบาฏิลได้เกิดกับเขา เช่น ปัสสาวะ หรือผายลมเป็นต้น

-          กล่าวคำพูดหนึ่งคำพูดใดออกมา

-          หัวเราะโดยมีเสียงออกมา

-          ร้องไห้ เพราะดุนยา

-          หันหน้าออกจากกิบละฮฺ

-          กินและดื่ม

-          ทำภารกิจอื่นอันเป็นสาเหตุให้รูปนมาซเสีย

-          เพิ่มหรือลดรุกนฺของนมาซ

-          กอดอก

-          กล่าวคำว่า อามีน หลังซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺ

กฏเกณฑ์ของมุฏฏิลลาตนมาซ

การพูด

ข้อที่ ๒๕๔. ถ้าผู้นมาซตั้งใจพูดคำพูดที่มีความหมายออกมาเพียงคำเดียว หรือมากกว่า นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๕๕. ถ้าลืมและได้พูดออกมาหมายถึง ลืมไปว่ากำลังนมาซอยู่และได้พูดสิ่งหนึ่งออกมา นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๕๖. การไอหรือจามไม่ทำให้นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๕๗. ขณะนมาซต้องไม่ให้สลามผู้อื่น แต่ถ้ามีผู้กล่าวสลามให้ วาญิบต้องตอบรับสลามนั้น และในการตอบสลามต้องเอาคำว่า สลามขึ้นไว้หน้า เช่น เมื่อมีผู้กล่าวว่า สลามุนอะลัยกุม ต้องไม่กล่าวตอบว่า อะลัยกุมุส สลาม

การหัวเราะและร้องไห้

ข้อที่ ๒๕๘. ถ้าผู้นมาซตั้งใจหัวเราะโดยมีเสียงออกมา หรือร้องไห้เสียงดังเนื่องจากภารกิจของดุนยา นมาซบาฏิล แต่ถ้าร้องไห้เพราะความเกรงกลัวในพระองค์ หรือร้องเพื่ออาคิเราะฮฺ (ปรโลก) ไม่เป็นไร ทว่าเป็นการกระทำที่ดีที่สุด

ข้อที่ ๒๕๙. การยิ้มไม่ทำให้นมาซบาฏิล

หันหน้าออกจากกิบละฮฺ

ข้อที่ ๒๖๐. ถ้าตั้งใจหันหน้าออกจากกิบละฮฺ โดยไม่อาจกล่าวว่าหันหน้าตรงกิบละฮฺ นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๖๑. ถ้าหันหลังให้กิบละฮฺโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หรือหันไปทางขวาหรือทางซ้ายของกิบละฮฺ นมาซบาฏิล

การกินและการดื่ม

ข้อที ๒๖๒. ถ้าผู้นมาซได้กินหรือดื่มโดยไม่อาจกล่าวได้ว่ากำลังนมาซอยู่ นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๖๓. ถ้าผู้นมาซกินหรือดื่ม แม้ว่าจะไม่ทำให้รูปนมาซเสียไป อิฮฺติยาฏวาญิบนมาซบาฏิล

การทำลายรูปนมาซ

ข้อที่ ๒๖๔. ขณะนมาซถ้าได้ทำสิ่งหนึ่งอันเป็นสาเหตุทำให้รูปนมาซเสีย เช่น โบกมือไปมาหรือทำสิ่งที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะลืมนมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๖๕.ขณะนมาซได้นิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง ทำให้รูปนมาซเสียนมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๖๖. การเลิกนมาซวาญิบกลางคัน ฮะรอม เว้นเสียแต่ว่าอยู่ในภาวะที่จำเป็น เช่น เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สิน หรือป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดกับทรัพย์สินหรือชีวิต

ข้อที่ ๒๖๗. การเลิกนมาซวาญิบกลางค้นเพื่อจ่ายหนี้ตามเงื่อนไขต่อไปนี้ไม่เป็นไร

-          ระหว่างนมาซไม่สามารถจ่ายหนี้ได้

-          เจ้าหนี้ต้องการหนี้ของตน

-          เวลานมาซเหลือมาก หมายถึงหลังจากจ่ายหนี้แล้วยังมีเวลาพอที่จะนมาซในเวลาต่อไปได้

ข้อที่ ๒๖๘. การเลิกนมาซวาญิบกลางคันเพื่อปกป้องทรัพย์สินที่ไม่มีความสำคัญ มักรูฮฺ

ข้อที่ ๒๖๙. การกระทำดังต่อไปนี้ในนมาซมักรูฮฺ

-          หลับตา

-          เล่นนิ้วมือและมือ

-          ขณะกล่าวซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺ ซูเราะฮฺ และซิกรฺได้หยุดฟังคนอื่นพูด

-          การกระทำทุกอย่างอันเป็นสาเหตุทำให้เสียสมาธิ

-          หันหน้าออกจากกิบละฮฺไปทางขวามือหรือซ้ายมือเล็กน้อย (ถ้าหันมากนมาซบาฏิล)

คำแปลอะซานและอิกอมะฮฺ

الله اَكْبَر อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่
اَشْهَدُ اَنْ لاَ اِلَهَ اِلاَّ اللّه ข้าฯขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ
اَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًا رَسُوْلُ الله ข้าฯขอปฏิญาณว่าแท้จริงมุฮัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์
اَشْهَدُ اَنَّ عَلِيًّا وَ لِيُّ الله ข้าฯขอปฏิญาณว่าอะลีคือผู้ปกครองของพระองค์
حَيَّ عَلَى الصَّلَاةِ จงเร่งรีบสู่นมาซ
حَيَّ عَلَى الْفَلَاحِ จงเร่งรีบสู่การทำความดี
حَيَّ عَلَى خَيْرِ الْعَمَلْ จงเร่งรีบสู่การกระทำที่ดีที่สุด
قَدْ قَامَتٍ الصَّلَاةَ จงยืนขึ้นเพื่อดำรงนมาซ
الله اَكْبَر อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่
لاَ اِ لَهَ اِلاَّ الله ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ

แปลนมาซ

ตักบีเราะตุลอิฮฺรอม อัลลอฮุอักบัร

อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ (กว่าทุกคนและทุกสรรพสิ่ง)

แปลซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺ

بِِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ
ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณีเสมอ
الْحَمْدُ لِلّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ มวลการสรรเสริญ เป็นสิทธิของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
اَلرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณี
مَالِكِ يَوْمِ الدِّينِ ผู้เป็นเจ้าแห่งวันตอบแทน
إيَّاكَ نَعْبُدُ وإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ   เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราขอความช่วยเหลือ
اِهْدِنَا الصِّرَاطَ المُسْتَقِيمَ โปรดชี้นำพวกเราสู่ทางเที่ยงตรง
صِرَاطَ الَّذِينَ أَنعَمْتَ عَلَيهِمْ غَيرِ المَغضُوبِ عَلَيهِمْ وَلاَ الضَّالِّينَ 

ทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปราณแก่พวกเขา มิใช่พวกที่ถูกกริ้ว  และมิใช่พวกที่หลงผิด

แปลซูเราะฮฺอิคลาซ

بِِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ
ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณีเสมอ
قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ   จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด พระองค์คือ อัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ
اللَّهُ الصَّمَدُ  อัลลอฮฺทรงเป็นที่พึ่ง
لَمْ يَلِدْ وَلَمْ يُولَدْ  พระองค์ไม่กำเนิด และไม่ทรงถูกกำเนิด
وَلَمْ يَكُن لَّهُ كُفُوًا أَحَدٌ และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์

ซิกรฺรุกูอฺ

سُبْحَانَ رَبِّيَ الْعَظِيْمِ وَ بِحَمْدِهِ

พระพิสุทธิ์ยิ่งแด่พระผู้อภิบาลผู้ทรงยิ่งใหญ่ ข้าฯขอสรรเสริญพระองค์

ซิกรฺซัจญฺดะฮฺ

سُبْحَانَ رَبِّيَ الْاَ عْلَى وَ بِحَمْدِهِ

พระพิสุทธิ์ยิ่งแด่พระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่งกว่าทุกสรรพสิ่ง ข้าฯขอสรรเสริญพระองค์

ตัซบีฮาตอัรบะอะฮฺ

سُبْحَانَ اللهِ وَالْحَمْدُ لِلَّهِ وَلاَ اِلَهَ اِلاَّ اللهُ وَ اللهُ اَكْبِرُ

พระพิสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ มวลการสรรเสริญแด่อัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่

ตะชะฮุดและสลาม

اَشْهَدُ اَنْ لاَ اِلَهَ اِلاَّ اللّه وَحْدَهُ لاَ شَرِيْكَ لَهُ،

ข้าฯขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ พระองค์ทรงเอกะ ไม่มีหุ้นส่วนสำหรับพระองค์

 وَ اَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدَهُ وَ رَسُوْلَهُ ،

ข้าฯขอปฏิญาณว่า แท้จริงมุฮัมมัดเป็นบ่าว และเป็นศาสนทูตของพระองค์

 اَللّّهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّد

โอ้อัลลอฮฺ โปรดประสาทพรแด่มุฮัมมัด และลูกหลานของมุฮัมมัด

السَّلاَمُ عَلَيْكَ اَيُّهَا النَّبِيُّ وَ رَحْمَةُ اللّهِ وَ بَرَكَاتُهُ

ขอความสันติ ความเตตา และความจำเริญจากอัลลอฮฺพึงมีแด่ท่าน โอ้ศาสนทูต

السَّلاَم عَلَيْنَا وَ عَلَى عِبَادِ الله الصِّالِحِيْن

ขอความสันติพึงมีแด่พวกเรา และแด่ปวงบ่าวผู้เป็นกัลญาณชนของอัลลอฮฺ

اَلسَّلاُمُ عَلَيْكُمْ وَ رَحْمَةُ اللهِ وَ بَرَكَاتُه

ขอความสันติ ความเตตา และความจำเริญจากอัลลอฮฺพึงมีแด่พวกท่าน

ความสงสัยในนมาซ

บางครั้งขณะนมาซเกิดสงสัยสิ่งที่ทำผ่านมาแล้ว เช่น ไม่รู้ว่ากล่าวตะชะฮุดแล้วหรือยัง หรือไม่รู้ว่าซัจญฺดะฮฺหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง หรือสงสังจำนวนเราะกะอัต เช่น ไม่รู้ว่ากำลังนมาซเราะกะอัตที่ ๓ หรือ ๔

สำหรับความสงสัยในนมาซมีกฎเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งจะกล่าวพอเป็นสังเขปดังนี้

ข้อที่ ๒๗๐. ถ้าสงสัยขั้นตอนต่าง ๆ ของนมาซ เช่น สงสัยว่าได้ทำขั้นตอนนั้นหรือยัง ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ทำขั้นตอนต่อไป หมายถึง ขณะนั้นยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนไปให้ย้อนกลับไปทำใหม่ แต่ถ้าเลยขั้นตอนนั้นไปแล้วและกำลังทำขั้นตอนต่อไปได้สงสัยว่า ได้ทำขั้นตอนดังกล่าวแล้วหรือยัง ไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อความสงสัยทำนองนี้ นมาซต่อให้เสร็จ ถือว่านมาซถูกต้อง ตัวอย่าง

ขณะจะรุกูอฺสงสัยว่าอ่านซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺหรือยัง ถ้ายังไม่ได้รุกูอฺให้อ่านซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺใหม่ แต่ถ้ากำลังรุกูอฺและสงสัยขึ้นมาว่าอ่านแล้วหรือยัง ไม่ต้องใส่ใจ

ข้อที่ ๒๗๑. ถ้าทำผ่านไปแล้วสงสัยว่าขั้นตอนที่ทำไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อความสงสัย นมาซต่อให้เสร็จ ถือว่านมาซถูกต้อง

ความสงสัยที่ทำให้นมาซเสีย

ข้อที่ ๒๗๒. ถ้าสงสัยนมาซที่มี ๒ เราะกะอัต เช่น นมาซซุบฮฺ สงสัยว่ากำลังเราะกะอัตที่หนึ่งหรือสอง นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๗๓. ถ้าสงสัยระหว่่างเระกะอัตที่ ๑ หรือมากกวา ๑ เช่น สงสัยระหว่างเราะกะอัตที่๑ กับ ๒ หรือ ๑ กับ ๓ นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๗๔. ขณะนมาซไม่รู้ว่ากี่เราะกะอัตแล้ว นมาซบาฏิล

ข้อที่ ๒๗๕. ทุกครั้งที่เกิดความสงสัยอันเป็นสาเหตุทำให้นมาซบาฏิล ต้องหยุดคิดเล็กน้อย ถ้าคิดไม่ออกหรือจำไม่ได้และยังสงสัยอยู่ ต้องยุตินมาซและเริ่มนมาซใหม่

ข้อที่ ๒๗๖. ความสงสัยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ

-          สงสัยในนมาซมุซตะฮับ

-          สงสัยในนมาซญะมาอะฮฺ

-          สงสัยหลังจากกล่าวสลามแล้ว

-          สงสัยหลังจากเวลานมาซผ่านไปแล้ว

ข้อที่ ๒๗๗. ถ้าสงสัยด้านมาก นมาซบาฏิล ดังนั้นให้ถือเป็นน้อย เช่น สงสัยนมาซนาฟิละฮฺซุบฮฺว่า นมาซไป ๒ เราะกะอัต หรือ ๓ เราะกะอัต ให้ถือว่าเป็นสอง

ข้อที่ ๒๗๘. ถ้าอิมามญะมาอะฮฺสงสัยจำนวนเราะกะอัต แต่ผู้ตามไม่สงสัยและได้พยายามบอกให้อิมามทราบว่ากำลังนมาซเราะกะอัตอะไร ดังนั้น อิมามต้องไม่ใส่ใจต่อความสงสัยของตน เช่นกันถ้าผู้ตามสงสัยจำนวนเราะกะอัต แต่อิมามไม่สงสัย  อิมามต้องนมาซต่อไป และให้ผู้ตามนมาซตาม นมาซถูกต้อง

ข้อที่ ๒๗๙. หลังจากสลามสงสัยว่านมาซถูกต้องหรือไม่ เช่น สงสัยว่ารุกูอฺหรือไม่ หรือหลังจากสลามสงสัยว่าได้นมาซ ๔ เราะกะอัตหรือ ๕ เราะกะอัต ต้องไม่ใส่ใจต่อความสงสัยนั้น แต่ถ้าเป็นความสงสัยที่บาฏิลทั้งสองด้าน ถือว่านมาซบาฏิล เช่น นมาซ ๔ เราะกะอัตหลังจากสลามสงสัยว่าได้นมาซ ๓ เราะกะอัตหรือ ๕ เราะกะอัต

ข้อที่ ๒๘๐. หลังจากเวลานมาซผ่านไปแล้วสงสัยว่าได้นมาซหรือไม่ หรือคาดว่ายังไม่ได้นมาซ ไม่จำเป็นต้องนมาซใหม่ แต่ถ้าสงสัยก่อนหมดเวลานมาซว่าได้นมาซแล้วหรือยัง หรือคาดว่ายังไม่ได้นมาซ  ต้องนมาซใหม่ หรือแม้คาดว่าได้นมาซแล้วก็ต้องนมาซใหม่อีกครั้ง

นมาซอิฮฺติยาฏ

ข้อที่ ๒๘๑. บางกรณีนมาซอิฮฺติยาฏเป็นวาญิบ เช่น สงสัยระหว่างเราะกะอัตที่ ๓ กับ ๔ เมื่อกล่าวสลามจบแล้ว ยังไม่ได้ทำให้รูปนมาซเสีย หรือไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นสาเหตุให้นมาซบาฏิล ให้ยืนขึ้นโดยไม่ต้องอะซานหรืออิกอมะฮฺ ให้เริ่มนมาซอิฮฺติยาฏทันที

ข้อที่ ๒๘๒. ความแตกต่างระหว่างนมาซอิฮฺติยาฏกับนมาซอื่น

-          ต้องไม่กล่าวเนียตออกมา

-          ไม่ต้องกล่าวซูเราะฮฺและกุนูต

-          ให้กล่าวเสียงเบา และอิฺฮฺติยาฏบิซมิลลาฮฺก็ให้กล่าวเสียงเบาเช่นกัน

ข้อที่ ๒๘๓. ถ้านมาซอิฮฺติยาฏ ๑ เราะกะอัตเป็นวาญิบ หลังจากตะชะฮุดแล้วให้กล่าวสลามทันที แต่ถ้านมาซอิฮฺติยาฏ ๒ เราะกะอัตเป็นวาญิบ ต้องไม่กล่าวตะชะฮุดและสลามหลังเสร็จเราะกะอัตที่ ๑ ให้ยืนนมาซเราะกะอัตที่ ๒ ต่อทันที โดยไม่ต้องตักบีเราะตุลอิฮฺรอมอีกครั้ง หลังจากเสร็จเราะกะอัตที่สอง ให้กล่าวตะชะฮุดและสลาม

ขั้นตอนการซัจญฺดะฮฺซะฮฺวียฺ

ข้อที่ ๒๘๔. กรณีที่ซัจญฺดะฮฺซะฮฺวียฺเป็นวาญิบ เช่น สงสัยระหว่างเราะกะอัตที่ ๔ กับ ๕ ขณะนั่ง ดังนั้น เมื่อกล่าวสลามจบ ใหัซัจญฺะฮฺซะฮฺวียฺทันที โดยกล่าวว่า

بسم الله وَ بِااللهِ وَ صَلَّ اللهُ عَلَى مُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّدٍ

แต่ดีกว่าให้กล่าวว่า

 بسم الله وَ بِااللهِ السَّلاَمُ عَلَيْكَ اَيُّهَا النَّبِيُّ وَ رَحْمَةُ اللّهِ وَ بَرَكَاتُهُ

หลังจากนั้นให้นั่ง และซัจญฺดะฮฺใหม่อีกครั้งโดยกล่าว ๑ ใน ๒ ประโยคข้างบน